Conjunctivitis in Kasetsart University
การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา โรคตาแดงระบาด ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Download: Conjunctivitis2018 (pdf) , การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา โรคตาแดง 2561 (docx)
การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาสถานพยาบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มาตรการ การป้องกันและควบคุมโรคตาแดงระบาดภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มาตรการส่วนบุคคล
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกัน
- ให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ควรใช้มือขยี้ตา
- ไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วย
- ซักเสื้อผ้าของใช้ส่วนบุคคลให้สะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระน้ำเพราะเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
- มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคตาแดงระบาดสำหรับหอพัก
- ควรจัดระบบให้มีการค้นหาผู้ป่วยและรายงานผู้ป่วยทันทีที่พบผู้ป่วย
- ควรมีการแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ให้กับนิสิตในหอพักทุกคนทราบโดยเร็ว เมื่อมีการระบาดของโรคตาแดง เช่น มีการเรียกประชุมชาวตึก ชาวหอ
- ควรแยกผู้ป่วยออกจากกิจกรรมต่างๆ อย่างเด็ดขาดเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
- ควรแนะนำผู้ป่วยไม่ควรไปคลุกคลีกับเพื่อนในห้องอื่นๆ
- ควรแนะนำผู้ป่วยให้ใช้ห้องน้ำที่จัดไว้ให้สำหรับผู้ป่วยโรคตาแดงโดยเฉพาะเท่านั้น
- พยายามลดความแออัดและเพิ่มการระบายอากาศของหอพัก ให้ได้ดีขึ้น
- ควรมีการติดตั้งอ่างล้างมือภายในห้องน้ำทุกห้อง
- ควรมีการวางสบู่หรือเจลล้างมือที่อ่างล้างมือภายในห้องน้ำ
- ควรเปลี่ยนวิธีการอาบน้ำจากการตักอาบ เป็นการอาบจากฝักบัวแทน
- ควรแนะนำแม่บ้านประจำหอพักให้ดูแลทำความสะอาดบริเวณโดยรอบและห้องน้ำในช่วงที่มีการระบาดของโรคตาแดงอย่างเข้มงวด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือผงซักฟอก
- ควรให้มีการเติมคลอรีนลงในอ่างอาบน้ำหรือบ่อน้ำตามมาตรฐานการเติมคลอรีน
ตาแดง (Conjunctivitis)
ตาแดง (Conjunctivitis) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตา โดยลูกตาจะเป็นสีแดงซึ่งเกิดจากการทีหลอดเลือดฝอยขยายตัวมากขึ้น สำหรับการเป็นโรคตาแดงส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 1-2 วัน แต่บางรายสามารถที่จะเป็นโรคตาแดงแบบรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตอาการตนเอง หากพบว่าอาการตาแดงเริ่มผิดปกติมากยิ่งขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
สาเหตุของโรคตาแดง
โรคตาแดงสามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นก็มีดังนี้
- ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคตาแดงขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการเกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งการใส่คอนแทคเลนส์แบบไม่ได้ทำความสะอาด ซึ่งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรคตาแดงก็มีดังนี้
เชื้อ adenovirus คือ เชื้อโรคตาแดงระบาด
เชื้อ herpes simplex virus คือ เชื้อเริม
เชื้อ varicella-zoster virus คือ เชื้ออีสุกอีใสและงูสวัด
เชื้อ picornaviruses คือ เชื้อไวรัสส่งผลต่อโรคไวรัสตับอักเสบ
เชื้อ molluscum คือ เชื้อที่ทำให้เกิดหูดข้าวสุก
เชื้อ vaccinia คือ เชื้อไวรัสวัคซีน (เป็นสาเหตุที่เกิดได้ยาก)
เชื้อ HIV คือ เชื้อเอดส์
- โรคภูมิแพ้
สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ สามารถทำให้ร่างกายเกิดผลตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ โดยเป็นการผลิตแอนตี้บอดี้ คือ immunoglobulin E ซึ่งเป็นแอนตี้บอดี้ที่ทำให้เกิดเซลล์ที่ส่งผลต่อการปล่อยสารฮีสตามีน หากภายในร่างกายมีสารฮีสตามีนมากเกินไป ก็จะส่งผลทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและเกิดอาการตาแดงได้นั่นเอง
- ตาแห้ง
อาการตาแห้ง เป็นอาการที่ดวงตามีปริมาณน้ำตาที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้น้ำตาไม่สามารถช่วยหล่อลื่นดวงตาได้ ส่งผลทำให้ตาแห้งบ่อยๆ และหากตาแห้งเรื้อรังก็จะทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองดวงตา จนนำมาซึ่งโอกาสในการติดเชื้อและเป็นโรคตาแดงขึ้นได้
- คอนแทคเลนส์
คอนแทคเลนส์ เป็นตัวช่วยในการมองเห็นสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น แต่การใช้ทุกครั้งจะต้องหมั่นทำความสะอาดและเก็บรักษาคอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี เพราะไม่เช่นนั้น คอนแทคเลนส์จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย ที่สำคัญยังก่อให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย
- แสงจากคอมพิวเตอร์
การใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์นานเกินไป แสงอัลตราไวโอเลตจากคอมพิวเตอร์จะส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็น ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการตาแห้ง และทำให้เป็นโรคตาแดงได้
- อาการเจ็บตา
อาการเจ็บตาสามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด หรือบางรายอาจจะเป็นโรคที่ส่งผลต่ออาการเจ็บตาอยู่แล้ว แต่ในกรณีของการผ่าตัดกับการส่งผลทำให้ดวงตามีสีแดงนั้น ถือเป็นเพียงการตอบสนองของร่างกายที่จะทำให้การไหลเวียนเลือดเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น
- แผลที่กระจกตา
การเป็นแผลที่กระจกตาสามารถที่จะส่งผลต่อการติดเชื้อได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงนับว่าอันตรายอย่างมาก เพราะสามารถที่จะส่งผลต่อการมองเห็น และอาจจะมีอาการเจ็บปวดดวงตาร่วมด้วย
- โรคเริมที่ตา
การเป็นโรคเริมเกิดขึ้นที่ตา มักเกิดจากการติดเชื้อ herpes simplex virus ซึ่งเป็นเชื้อชนิดที่ 1 ซึ่งโรคเริมเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการกับดวงตาได้ และยังทำให้ตาไวต่อแสงง่ายขึ้นอีกด้วย
- ภาวะม่านตาอักเสบ
เป็นภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นกับดวงตาชั้นกลาง โดยส่งผลทำให้ดวงตามีสีแดง ทำให้ตาไวต่อแสงได้ง่าย และยังส่งผลต่อการมองเห็นอีกด้วย การเป็นภาวะม่านตาอักเสบ นอกจากจะส่งผลต่อการเป็นโรคตาแดงได้แล้ว ยังสามารถที่จะส่งผลต่อการเป็นโรคต้อกระจกได้ด้วยเช่นกัน
- โรคต้อหิน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตาแดงจากโรคต้อหิน มีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อย แต่หากเป็นแล้วก็อาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นแบบรุนแรงก็จะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว
อาการของโรคตาแดง
อาการของโรคตาแดง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับดวงตาข้างเดียวหรือสองข้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สามารถที่จะ
บ่งบอกอาการแบบปกติโดยทั่วไปได้ดังนี้
- คันตา
- แสบตา
- น้ำตาไหล
- เปลือกตาบวมและลอก
- ขนตาร่วง
- ปวดแสบปวดร้อน
อาการตาแดงแบบผิดปกติที่ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์
หากพบว่าโรคตาแดงมีอาการผิดปกติมากขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยอาการตาแดงที่บ่งชี้ว่าผิดปกติมีดังนี้
- ตามีอาการบวม
- ตารู้สึกไวต่อแสง
- การมองเห็นผิดปกติ
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
โรคตาแดง ติดต่อกันได้หรือไม่?
โรคตาแดงระบาด เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ซึ่งการติดต่อของโรคนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
- ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง เพราะนี่คือ สาเหตุหลักส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดต่อกันของโรคตาแดงได้ง่าย อันเกิดจากการสัมผัสน้ำตาและขี้ตาของผู้ป่วย เมื่อเชื้อติดที่มือก็สามารถที่จะแพร่จากมือมาติดที่ตาโดยตรงได้
- ใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า และอุปกรณ์แต่งหน้า เป็นต้น
- ได้รับฝุ่นละอองหรือมีน้ำสกปรกเข้าสู่ดวงตา
- แมงหวี่หรือแมลงวันบินเข้ามาตอมบริเวณดวงตา
- ไม่ดูแลรักษาทำความสะอาดร่างกายให้ดี โดยเฉพาะใบหน้าและมือ
อย่างไรก็ตาม โรคตาแดงจะไม่เกิดการติดต่อกันจากการสบตา จากทางอากาศและการทานอาหารร่วมกัน อีกทั้งอาการต่างๆ จะสามารถเกิดขึ้นภายในระยะ 1-2 วัน แต่ระยะเวลาในการติดต่อไปยังผู้อื่นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 14 วัน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาแดง
การเป็นโรคตาแดงล้วนมีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดอาการตาแดงแล้วไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่พบก็มีดังนี้
- การเกิดแผลที่กระจกตาดำ
- การติดเชื้อลุกลามไปที่อวัยวะส่วนอื่นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเนื่องจากการมองเห็นที่ผิดปกติ
- สูญเสียการมองเห็น
การวินิจฉัยโรคตาแดง
การวินิจฉัยโรคตาแดงจะมีความคล้ายคลึงกับการวินิจฉัยโรคทั่วไป แต่อาจจะมีกระบวนการวินิจฉัยบางส่วนที่มีความแตกต่างอยู่บ้าง โดยการวินิจฉัยโรคตาแดง มีดังนี้
- การสอบถามประวัติของผู้ป่วย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจดวงตา
- การตรวจ Slit-lamp (การตรวจตาผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบพิเศษ ทำให้ตรวจได้ละเอียดมากขึ้น)
- การตรวจขี้ตา
- การเสมียร์เชื้อ
วิธีการป้องกันและรักษาโรคตาแดง
การรักษาโรคตาแดง สามารถรักษาได้หลายวิธี แต่วิธีเบื้องต้นที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ก็มีดังนี้
- ไม่สัมผัสตาที่ติดเชื้อ (ไม่ควรขยี้ตา)
- ล้างมือทุกครั้ง หากนำมือไปสัมผัสบริเวณดวงตา
- ทำความสะอาดปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า
- ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ทั้งของตนเองและผู้อื่น
- สวมแว่นตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์
วิธีเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีดูแลรักษาอาการตาแดงในเบื้องต้นที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดโรคตาแดงไม่ให้เป็นยาวนานหลายวัน
การรักษาตาแดงด้วยยาหยอดตา การรักษาโรคตาแดงด้วยยาหยอดตา ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเป็นอย่างดีเสียก่อน โดยก่อนอื่นเราไปดูกันว่ายาหยอดตามีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ประเภทของยาหยอดตา ยาหยอดตามีด้วยกัน 3 ประเภท แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติดังนี้
- ยาหยอดตาNaphazoline เป็นยาหยอดตาที่จะช่วยรักษาโรคตาแดงโดยตรง โดยจะช่วยบรรเทาอาการคัน และบวม
- ยาหยอดตาTetrahydrozoline เป็นยาหยอดตาที่เป็นดั่งยาแก้แพ้ และช่วยในเรื่องการหดตัวของหลอดเลือด จึงสามารถช่วยรักษาโรคตาแดงได้เป็นอย่างดี
- Eye lubricant drops หรือจะเรียกอีกอย่างว่า น้ำตาเทียม โดยจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาและช่วยลดการระคายเคือง
- ยาAntibiotic (ยาต้านการอักเสบ)
- ยาSteroids
วิธีดูแลตัวเอง เมื่อเป็นโรค
สำหรับการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคตาแดง ผู้ป่วยสามารถที่จะปฏิบัติได้ดังนี้
- ไม่ควรใช้ผ้าปิดตา เพราะเชื้อจะเติบโตได้เร็ว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส คลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อน-หลังสัมผัสดวงตาและใบหน้า เพราะมือเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่เร็วที่สุด
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดขี้ตา เพราะผ้าเช็ดหน้าจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อเอาไว้และทำให้แพร่ไปติดต่อผู้อื่นได้
- ควรใส่แว่นตากันแดดเพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองของดวงตาที่เกิดกับแสง
- หยุดพักการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการตาแดงจะหาย
- หากเช็ดขี้ตาด้วยกระดาษหรือสำลี ควรทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิด
- งดว่ายน้ำ
เอกสารอ้างอิง: https://www.honestdocs.co/conjunctivitis-symptoms-treatment-prevention
เรียบเรียงร่วมกับแพทย์หญิงเจิมใจ อำมฤต (จักษุแพทย์)
นางจำนงค์ แถวจันทึก
(พยาบาลชำนาญการ)