การปฐมพยาบาลบาดแผลเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลบาดแผลเบื้องต้น

คุณ อุมาพร จันทร์ประเสริฐ พยาบาล สถานพยาบาล ม.ก.

การปฐมพยาบาลบาดแผลอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอันตรายและลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ โดยควรปฏิบัติดังนี้

ชนิดของบาดแผลบาดแผลปิด หมายถึง บาดแผลที่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายใต้ผิวหนัง เช่น แผลฟกช้ำ ห้อเลือด ข้อเท้าพลิก ข้อแพลง

การดูแล

  • ใน 24 ชั่วโมงแรก ใช้น้ำแข็งหรือถุงน้ำเย็นประคบ เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยระงับอาการปวด
  • หลัง 24 ชั่วโมง ควรประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยละลายลิ่มเลือด

บาดแผลเปิด หมายถึง บาดแผลที่มีการฉีกขาดและมีเลือดไหลออกมานอกผิวหนัง เช่น แผลถลอก แผลตัด แผลฉีกขาดกระรุ่งกระริ่ง แผลถูกยิง แผลถูกแทง แผลถูกยิง

การดูแล 

  • ชะล้างแผลและทำความสะอาดรอบๆ แผล ถ้าแผลสกปรกมาก ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่
  • ใช้ผ้าสะอาด หรือผ้ากอซสะอาด ซับบริเวณแผลให้แห้ง
  • ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน (Betadine) ไม่จำเป็นต้องปิดแผล ถ้าเป็นแผลถลอก หากมีเลือดซึม ควรใช้ผ้ากอซสะอาดปิดแผลไว้
  • ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ กว้างและลึก มีเลือดออกมาก ให้ห้ามเลือด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

บาดแผลที่เย็บการดูแล

  • ดูแลแผลไม่ให้สกปรก ไม่ควรให้ถูกน้ำเพราะจะทำให้แผลที่เย็บไม่ติด และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • การเปลี่ยนผ้าปิดแผลควรทำให้น้อยที่สุดหรือทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ถ้าแผลสะอาดไม่ต้องเปลี่ยนผ้าปิดแผลจนถึงกำหนดตัดไหม ยกเว้น แผลสกปรก อาจต้องล้างแผลบ่อยขึ้น
  • ตามปกติ จะตัดไหมเมื่อครบ 7 วัน แต่ถ้าแผลยังอักเสบ หรือยังไม่แน่ใจว่าแผลติดแล้ว อาจต้องรอต่อไปอีก 2 – 3 วัน ให้แผลติดกันดีจึงค่อยตัดไหม ยกเว้นรายที่มีการติดเชื้อ แผลเป็นหนอง จำเป็นจะต้องตัดไหมออกก่อนกำหนด

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกหมายถึง การที่ผิวหนังถูกทำลายด้วยความร้อน ที่อุณหภูมิสูงกว่า 50 C ได้แก่ เปลวไฟ ไอน้ำร้อน น้ำเดือด สารเคมี กระแสไฟฟ้า และรังสีต่างๆ

ชนิดของแผลไหม้

  1. เฉพาะชั้นผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน ลักษณะแผลแห้ง แดง และถ้าลึกถึงหนังแท้จะพองเป็นตุ่มน้ำใสและบวม

การดูแล

  • ระบายความร้อนออกจากแผล โดยใช้ผ้าชุบน้ำ หมั่นประคบบริเวณบาดแผล หรือเปิดให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลา นานประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้วย
  • ทาด้วยยาทาแผลไหม้
  • ห้ามเจาะถุงน้ำหรือตัดหนังส่วนที่พองออก
  • ปิดด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและพันผ้าไว้
  • ถ้าแผลไหม้เป็นบริเวณกว้างหรือเป็นอวัยวะที่สำคัญต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
  1. ลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ได้แก่ ไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นประสาท กระดูก เป็นต้น ลักษณะแผลมีสีน้ำตาลเทาหรือดำ ผิวหนังรอบๆ จะซีด มีกลิ่นไหม้ อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อน ถึงเสียชีวิตได้

การดูแล

  • ไม่ต้องระบายความร้อนออกจากบาดแผลเพราะจะยิ่งทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น
  • ห้ามใส่ยาใดๆ ทั้งสิ้นลงในบาดแผล
  • ใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก ให้ความอบอุ่น และรีบนำส่งโรงพยาบาล

* ห้ามใช้น้ำปลา ยาสีฟัน ยาหม่อง ทาแผล เพราะอาจเกิดการติดเชื้อทำให้แผลอักเสบได้

อันตรายจากสารเคมี

เมื่อถูกสารเคมีหกราดผิวหนังหรือลำตัวให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ใช้น้ำล้าง โดยใช้วิธีตักราด หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่านนานประมาณ 10 นาที หรือนานจนแน่ใจว่าล้างออกหมด
  2. ถอดเสื้อผ้าเครื่องประดับที่เปื้อนสารเคมีออกให้หมด
  3. นำส่งโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บสาหัส

สิ่งสำคัญ

  • ถ้าสารเคมีเป็นผง ให้ถอดเสื้อผ้า และเครื่องประดับที่เปื้อนออกให้หมด แล้วล้างด้วยน้ำ เพราะถ้าใช้น้ำล้างทันที สารเคมีจะละลายน้ำทำให้ออกฤทธิ์เพิ่มขี้น

สารเคมีเข้าตา

ต้องรีบให้การช่วยเหลือเพราะอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนี้

1. ล้างด้วยน้ำสะอาด นานประมาณ 20 นาที โดยเปิดน้ำจากก๊อกเบาๆ ล้าง หรือเทน้ำจากแก้วล้างระวังอย่าให้น้ำเข้าตาอีกข้างหนึ่ง
2. ปิดตาด้วยผ้าสะอาด ห้ามขยี้ตา
นำส่งโรงพยาบาลทันที